Health&Beauty

ออฟฟิศซินโดรม โรคฮิต ที่ไม่ใช่คนทำงานออฟฟิศก็เป็นได้

ออฟฟิศซินโดรม (office syndrome) เป็นโรคที่พบบ่อยมากขึ้นในปัจจุบัน เนื่องด้วยพฤติกรรมการใช้ชีวิตที่อยู่กับก้มมองโทรศัพท์มือถือ นั่งหน้าคอมพิวเตอร์นานๆ โดยเริ่มแรกจะรู้สึกปวดเมื่อยคอ บ่า ไหล่ สะบัก และบริเวณหลัง และจะเป็นๆ หายๆ เรื้อรังมากขึ้น หากปล่อยไว้ก็อาจลุกลามจนเป็นโรคอื่นๆ เช่น โรคไมเกรน โรคเกี่ยวกับกระดูกและกล้ามเนื้อ


ออฟฟิศซินโดรม คืออะไร? ทำไมถึงเป็น?

ออฟฟิศซินโดรม คือ กลุ่มอาการปวดกล้ามเนื้อและเยื่อพังผืด รวมถึงอาการปวดหรือชาจากอาการอักเสบจากเนื้อเยื่อและเอ็น มักเกิดขึ้นกับกลุ่มวัยทำงานที่ต้องนั่งทำงานในออฟฟิศหรือทำงานโดยใช้คอมพิวเตอร์และมือถือเป็นประจำจนกลายเป็นชื่อโรคนี้ โดยสาเหตุหลักมาจากการใช้งานกล้ามเนื้อมัดเดิมๆ ซ้ำๆ เป็นเวลานานๆ หรือก็คือการอยู่ท่าทางเดิมเป็นเวลานาน เช่น การนั่งงอตัว การก้มหน้านานๆ จนกล้ามเนื้อเกิดการบาดเจ็บ และมีอาการปวดตามมา

อาการเป็นอย่างไร?

อาการออฟฟิศซินโดรมที่พบบ่อยก็คือ มีอาการปวดเมื่อยกล้ามเนื้อบริเวณคอ บ่า ไหล่ สะบัก ส่วนหลัง และสะโพก และมักจะเป็นเรื้อรังไม่หายขาด ตาแห้ง ปวดตา ปวดหัว

ออฟฟิศซินโดรม ต้องเป็นคนทำงานทำงานออฟฟิศใช่ไหม? ถึงจะเป็นได้

ไม่ใช่ จริงๆ แล้วอาการนี้พบได้ทั้งในคนทำงานออฟฟิศ และคนทำงานแบบใช้แรงเป็นประจำ หรือนักกีฬา

แล้วเราจะเสียงเป็นออฟฟิศซินโดรมหรือเปล่า?

สามารถเช็คได้จากสิ่งเหล่านี้

1.ต้องทำกิจกรรมหรืองานลักษณะเดิมๆ ต่อเนื่อง อย่างน้อย 6 ชั่วโมงต่อวันหรือไม่

2.มีอาการปวด ในช่วงเวลาที่สัมพันธ์กับเวลางาน แต่จะมีอาการดีขึ้น หรือไม่มีอาการในวันหยุดพัก

3.ต้องทำงานในสภาพแวดล้อมในการทำงานไม่เหมาะสม เช่น ออฟฟิศแออัด อากาศไม่ถ่ายเท โต๊ะเก้าอี้ไม่เหมาะกับสรีระ เป็นต้น

4.มีเวลาพักผ่อนน้อย หรือไม่ได้พักผ่อน

5.มีความเครียดจากการทำงานสูง หรืออยู่ในสภาพสังคมการทำงานที่เป็นพิษ

6.ผู้ที่มีอาการปวดเรื้อรัง เป็น ๆ หาย ๆ พอรักษาหรือยืดกล้ามเนื้อแล้ว อาการก็ดีขึ้นชั่วคราว แต่สักพักก็กลับมาเป็นอีก มักมีอาการบริเวณกล้ามเนื้อบริเวณไหล่ ต้นคอ สะบัก ส่วนหลัง

7.มีอาการปวดร้าวไปยังส่วนต่าง ๆ เช่น ปวดร้าวขึ้นศีรษะ ปวดร้าวไปที่ไหล่หรือแขน ปวดร้าวลงขา สัมพันธ์กับท่าทางของเรา

8.ไม่ค่อยได้เคลื่อนไหว หรือไม่ค่อยได้ออกกำลังกายอย่างสม่ำเสมอ

9.ทำงานในลักษณะที่ต้องใช้แรงเป็นประจำ เช่น งานแบกหาม งานลาก ยก หรือเข็นวัสดุสิ่งของ

10.นักกีฬา หรือผู้ที่ต้องเล่นกีฬาเป็นประจำ

เป็นแล้วจะรักษายังไง?

ถ้าสำรวจตัวเองแล้วพบมีอาการออฟฟิศซินโดรม ลองใช้วิธีแก้ที่จะช่วยทุเลาอาการให้ลดลง เช่น การยืดกล้ามเนื้อเป็นระยะๆ, นวดผ่อนคลายขณะทำงาน, ทาครีมแก้ปวด, แปะแผ่นเจลประคบ หรือทานยาแก้ปวด

อย่างไรก็แล้วแต่ การรักษาที่ต้นเหตุ ย่อมได้ผลที่ยั่งยืนกว่า เช่น  การปรับเปลี่ยนพฤติกรรมและสภาพแวดล้อมในการทำงาน อย่างการเปลี่ยนโต๊ะเก้าอี้ที่เหมาะกับสรีระ ปรับท่านั่งให้ถูกต้อง

แต่ถ้าลองใช้วิธีแก้แล้วไม่ได้ผล ยังคงมีอาการปวดเรื้อรัง ส่งผลต่อปัญหาการนอนหลับ ทำงานไม่ได้ มีภาวะแขนขาอ่อนแรง ควรปรึกษาแพทย์เพื่อตรวจหาสาเหตุที่แน่ชัดดีกว่านะ

ขอบคุณข้อมูลจาก โรงพยาบาลพระราม9