ฤดูร้อน นอกจากอากาศที่ร้อนจนแทบจะต้องร้องขอชีวิต อีกสิ่งหนึ่งมากับฤดูร้อนนอกจากสภาพอากาศแล้ว ยังมีโรคประจำฤดูกาลนี้อีกด้วย ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นโรคเกี่ยวกับทางเดินอาหาร เนื่องจากว่าอากาศร้อนนั้นเหมาะสำหรับการเจริญเติบโตของเชื้อแบคทีเรียมาก
แล้ว “โรคฮิต” ประจำ “ฤดูร้อน” มีอะไรบ้าง?
1.โรคลมแดดหรือฮีทสโตรก
โรคฮีทสโตรกเป็นโรคที่เกิดจากการที่ร่างกายได้รับความร้อนมากเกินไป จนทำให้ความร้อนในร่างกายสูงกว่า 40 องศาเซลเซียส สำหรับอาการเบื้องต้น ได้แก่ เมื่อยล้า อ่อนเพลีย ปวดศีรษะ หน้ามืด ระยะถัดมาอุณหภูมิในร่างกายสูงขึ้นอย่างรวดเร็ว รูขุมขนจะปิดจนไม่สามารถระบายเหงื่อได้ บางรายอาจถึงขั้นชักกระตุกและหมดสติ มีไข้สูง ตัวร้อนมาก ซึ่งส่งผลต่อระบบไหลเวียนโลหิตและระบบสมอง ถ้าไม่ได้รับการแก้ไขอย่างถูกต้องและทันเวลา อาจทำให้หัวใจหยุดเต้นและถึงแก่ชีวิตได้
2.โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน
โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลัน เกิดจากการกินอาหารหรือน้ำดื่มที่มีเชื้อแบคทีเรีย ไวรัส โปโตซัว พยาธิ ทำให้มีการถ่ายอุจจาระเหลว ถ่ายเป็นมูกเลือด โรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันเป็นโรคที่พบบ่อยโดยเฉพาะในพื้นที่ที่ไม่สะอาด ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้จะถ่ายอุจจาระเหลวหรือถ่ายอุจจาระเป็นน้ำผู้ป่วยส่วนใหญ่มีอาการไม่รุนแรงและมักหายได้เอง ส่วนใหญ่แล้วจะพบในช่วงหน้าร้อนเพราะอากาศร้อนจะทำให้อาหารและน้ำดื่มเสียง่ายและทำให้เกิดเชื้อแบคทีเรีย ที่เป็นต้นเหตุของโรคอุจจาระร่วงเฉียบพลันนั่นเอง
3.อหิวาตกโรค
เกิดจากเชื้ออหิวาตกโรค ซึ่งเป็นเชื้อแบคทีเรียที่ติดต่อจากอาหารหรือน้ำที่มีเชื้อโรคปนเปื้อนอยู่ ซึ่งหากติดเชื้อโรคนี้จะทำให้เราถ่ายอุจจาระเป็นน้ำคราวละมากๆ โดยไม่มีอาการปวดท้อง และมีอาการขาดน้ำและเกลือแร่อย่างรวดเร็ว เช่น กระหายน้ำ อ่อนเพลีย ปัสสาวะน้อย ชีพจรเต้นเร็ว ซึ่งอาจส่งผลให้เกิดภาวะช็อก หมดสติจากการเสียน้ำ และในบางรายที่มีอาการรุนแรงมากๆ อาจถึงขั้นเสียชีวิตได้เช่นกัน
4.ไทฟอยด์ หรือไข้รากสาดน้อย
เชื้อจะเข้าสู่ร่างกายโดยการกินอาหารหรือน้ำที่ถูกปนเปื้อน อาหารส่วนใหญ่ที่มักพบว่าทำให้เกิดโรค คือ อาหารจำพวกนม ผลิตภัณฑ์จากนม หอย ไข่ เนื้อสัตว์ น้ำ และอาหารอื่นๆ ที่ถูกปนเปื้อน ผู้ป่วยที่เป็นโรคนี้ สัปดาห์แรกไข้มักไม่สูง อาจมีอาการปวดศีรษะ เบื่ออาหาร อ่อนเพลีย ปวดเมื่อย ตามตัว อาจมีหนาวสั่นได้ คนไข้ซึมลง อาจเพ้อ
5.โรคพิษสุนัขบ้า หรือโรคกลัวน้ำ
ส่วนใหญ่มักเกิดจากสัตว์เลี้ยงลูกด้วยนมที่เป็นพาหะนำโรคมาสู่เรานั่นเอง ซึ่งมักจะพบเชื้อจากสุนัขและแมวนี่แหละ โดยสามารถติดต่อได้จากทั้งการโดนกัด หรือถูกเลียบริเวณที่มีแผลถลอก หรือแม้แต่น้ำลายสัตว์ที่มีเชื้อเข้าตา ปาก จมูก อีกด้วย ซึ่งหากถูกกัดให้รีบล้างแผลด้วยสบู่หรือน้ำสะอาดหลายๆ ครั้ง แล้วรีบไปพบแพทย์เพื่อฉีดวัคซีนป้องกันและต้องแจ้งเจ้าหน้าที่สาธารณสุขทราบเพื่อเข้าควบคุมโรคในพื้นที่ทันที ซึ่งหากไม่ได้รับการรักษา ผู้ป่วยจะมีอาการภายใน 15-60 วัน ซึ่งบางรายอาจใช้เวลานานเป็นปีเลย และเนื่องจากปัจจุบันโรคพิษสุนัขบ้ายังไม่มียารักษา จึงทำให้ผู้ป่วยเสียชีวิตภายใน 2-7 วันหลังแสดงอาการ
แล้ววิธีการป้องกันล่ะ?
ง่ายๆ เลย เพียงแค่รักษาความสะอาด หมั่นล้างมือด้วยน้ำสบู่ก่อนกินอาหาร และควรเลี่ยงอาหารประเภทหมักดอง หรืออาหารที่มีกระบวนผลิตที่ไม่สะอาด พยามอยู่ในพื้นที่ที่มีอากาศถ่ายเทและไม่ร้อนจนอบอ้าว เท่านี้เราก็ปลอดภัยจากโรคฮิตเหล่านี้แล้ว
Kiseki แนะนำตัวช่วยเรื่องความสะอาด คลิก